ทุเรียนหลงลับแล
“หลงลับแล” และ “หลินลับแล” ชื่อนี้เริ่มฮิตติดหูคนรักทุเรียน แต่แม้จะมีชื่อคุ้นหูแล้ว บางคนอาจยังไม่เคยชิม ด้วยเพราะถิ่นกำเนิดต้นตำรับนั้นอยู่ที่อำเภอลับแล จังหวัดอุตรดิตถ์ อีกอย่างก็ด้วยราคาที่ค่อนข้างสูง ในพื้นที่เองขายหลงลับแลอยู่ที่กิโลกรัมละ 250-450 บาท หรือหากจะซื้อกินที่กรุงเทพฯ ราคาก็ยิ่งสูงขึ้นไปอีก ก็เลยทำให้หลายคนต้องคิดก่อนซื้อ
สำหรับต้นกำเนิดของทุเรียน “หลงลับแล” นั้น เกิดขึ้นเมื่อนางหลง อุประ ชาวบ้านลับแล อ.ลับแล จ.อุตรดิตถ์ ได้นำเอาเมล็ดทุเรียนไม่ทราบพันธุ์ไปปลูกจนได้ผลผลิต และได้นำทุเรียนดังกล่าวส่งเข้าประกวด จนได้รับรางวัลยอดเยี่ยมจากการประกวดทุเรียนของกรมส่งเสริมการเกษตรและจังหวัดอุตรดิตถ์ ใน พ.ศ.2520 และได้จดทะเบียนรับรองสายพันธุ์ในเวลาต่อมา อีกทั้งยังได้มีการนำกิ่งพันธุ์ทุเรียนต้นนั้นมาขยายพันธุ์ด้วยการทาบกิ่งและเสียบยอดกับทุเรียนสายพันธุ์พื้นเมือง จนกระทั่งออกมาเป็นทุเรียนพันธุ์หลงลับแลรสชาติเยี่ยม
ลักษณะเด่นของทุเรียนหลงลับแลคือผลจะมีขนาดเล็กและค่อนข้างกลม แต่ละลูกจะมีน้ำหนักราว 1-3 กิโลกรัม ส่วนเนื้อมีสีเหลืองนวล กลิ่นไม่แรง เมื่อได้ลองกินจะรู้สึกถึงเนื้อที่เนียนละเอียดแต่ไม่เละ รสหวานมัน ไม่หวานแหลม กลิ่นหอมอ่อนๆ
ทุเรียนหลงลับแลและหลินลับแลถูกเรียกว่าเป็น “ทุเรียนเทวดาเลี้ยง” เพราะพื้นที่ของอำเภอลับแลส่วนใหญ่เป็นภูเขา ชาวสวนจึงทำสวนผลไม้ทั้งในที่ราบและบนภูเขา ต้นที่ขึ้นบนภูเขานั้นยากทั้งการเดินทางและการเข้าไปดูแล จึงต้องปล่อยให้เติบโตไปตามธรรมชาติ อาศัยน้ำฝนและสภาพอากาศที่เป็นใจบ้างไม่เป็นใจบ้างช่วยบำรุง มีไฟป่าเกิดจนทำให้ต้นทุเรียนเสียหายบ้าง มีไปใส่ปุ๋ยบ้างตามวาระ แต่ส่วนใหญ่แล้วก็จะปล่อยให้เติบโตและออกผลเอง จึงเป็นที่มาของชื่อทุเรียนเทวดาเลี้ยง (แต่ในยุคนี้ที่ราคาของหลง-หลินลับแลพุ่งสูงขึ้นก็อาจจะต้องช่วยเทวดาดูแลให้มากเป็นพิเศษเพราะมีลูกค้ารอกินอยู่เยอะ)
ไม่เพียงเท่านั้น เมื่อทุเรียนออกผลแล้วการเก็บผลผลิตก็ไม่ธรรมดา เนื่องด้วยทุเรียนปลูกอยู่บนเขาสูงหลายๆ ลูก เมื่อปีนขึ้นไปตัดทุเรียนลงมาแล้วก็ต้องขนส่งทุเรียนข้ามเขา (มายังฝั่งที่มีถนนขนส่งได้สะดวก) โดยการชักรอกเข่งทุเรียนด้วยลวดสลิงจากเขาลูกหนึ่งมายังอีกลูกหนึ่ง แล้วจึงใช้รถมอเตอร์ไซค์บรรทุกผลทุเรียนลงมาจากเขาอีกทอดหนึ่ง ในหน้าทุเรียนเราจะเห็นมอเตอร์ไซค์แบบนี้วิ่งกันขวักไขว่น่าดู